ศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้อำเภอโนนสะอาด  จัดตั้งขึ้นตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการ ลงวันที่ 27 สิงหาคม 2536 พร้อมกันทั่วประเทศ จำนวน 789 แห่ง ใช้ชื่อว่า “ศูนย์บริการการศึกษานอกโรงเรียนอำเภอโนนสะอาด” มีสถานะเป็นสถานศึกษา สังกัดศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดอุดรธานี กรมการศึกษานอกโรงเรียน  กระทรวงศึกษาธิการ สถานที่ตั้งครั้งแรกใช้ห้องสมุดประชาชนอำเภอโนนสะอาดใช้เป็นอาคารสำนักงาน

ต่อมาในปี พ.ศ. 2547 กรมการศึกษานอกโรงเรียน ซึ่งเป็นหน่วยงานต้นสังกัด ได้ปรับบทบาท เพื่อให้สอดรับกับ พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช 2542 ชื่อใหม่เป็น “สำนักบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียน” สังกัดสำนักปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงศึกษาธิการ จึงทำให้ศูนย์บริการการศึกษานอกโรงเรียนอำเภอ      โนนสะอาด เปลี่ยนสังกัดเป็น สังกัดศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดอุดรธานี สำนักบริหารงานการศึกษา          นอกโรงเรียน สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงศึกษาธิการ

ต่อมา พระราชบัญญัติส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย พุทธศักราช  2551 ได้ประกาศใช้ ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2551 หน้า 1 เล่ม 125 ตอนที่ 41 จึงทำให้ศูนย์บริการการศึกษานอกโรงเรียนอำเภอโนนสะอาด เปลี่ยนชื่อเป็น “ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอโนนสะอาด” ชื่อย่อ “ สกร.อำเภอโนนสะอาด” และได้ปรับบทบาท ภารกิจหน้าที่ใหม่อีกครั้งหนึ่ง

ต่อมา พระราชบัญญัติส่งเสริมการเรียนรู้ พุทธศักราช  2566 ได้ประกาศใช้ ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2566 เผยแพร่พระราชบัญญัติส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 ซึ่งมีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 60 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป และให้ยกเลิกพระราชบัญญัติส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย พ.ศ. 2551 โดยยกระดับจากสำนักงาน กศน. เป็น “กรมส่งเสริมการเรียนรู้” มีหน้าที่จัด ส่งเสริม และสนับสนุนการเรียนรู้ 3 รูปแบบ คือ การเรียนรู้ตลอดชีวิต การเรียนรู้เพื่อการพัฒนาตนเอง และการเรียนรู้เพื่อคุณวุฒิตามระดับ เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่มาตรา 54 วรรคสาม ประกอบกับมาตรา 258 จ. ด้านการศึกษา (4) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้รัฐต้องดำเนินการให้ประชาชนได้รับการศึกษาตามความต้องการในระบบต่าง ๆ รวมทั้งส่งเสริมให้มีการเรียนรู้ตลอดชีวิต และจัดให้มีการร่วมมือกันระหว่างรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชนในการจัดการศึกษา โดยสร้างโอกาสให้ผู้ซึ่งอยู่ในวัยเรียนแต่ไม่ได้รับการศึกษาในโรงเรียน หรือผู้ซึ่งพ้นวัยที่จะศึกษาในโรงเรียนหรืออยู่ในพื้นที่ที่ห่างไกลหรือทุรกันดาร มีโอกาสเรียนรู้และเข้าถึงแหล่งการเรียนรู้ได้อย่างทั่วถึงและพัฒนาศักยภาพ ทักษะ ความเชี่ยวชาญได้ตามความถนัด สมควรปรับปรุงการจัดการเรียนรู้และปรับปรุงโครงสร้างของหน่วยจัดการเรียนรู้เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของการเรียนรู้ตลอดชีวิต จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

โดยยกระดับจากสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (สำนักงาน กศน.) ให้เป็น “กรมส่งเสริมการเรียนรู้” มีหน้าที่จัด ส่งเสริม และสนับสนุนการเรียนรู้ ดังต่อไปนี้

  1. การเรียนรู้ตลอดชีวิต
  2. การเรียนรู้เพื่อการพัฒนาตนเอง
  3. การเรียนรู้เพื่อคุณวุฒิตามระดับ

จึงทำให้ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอโนนสะอาด เปลี่ยนชื่อเป็น “ศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้ระดับอำเภอโนนสะอาด” ชื่อย่อ “ สกร.ระดับอำเภอโนนสะอาด” และได้ปรับบทบาท ภารกิจหน้าที่ใหม่              อีกครั้งหนึ่งจนมาถึงปัจจุบัน

ทิศทางการดำเนินงานของสถานศึกษา

วิสัยทัศน์

          คนอำเภอโนนสะอาดทุกกลุ่ม ทุกช่วงวัย เข้าถึงโอกาสทางการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียม  เป็นพลเมืองที่ดีมีศักยภาพ  และมีความพร้อมในการแข่งขันในระดับสากล

พันธกิจ

          1. จัดและส่งเสริมการจัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยที่มีคุณภาพ เพื่อยกระดับการศึกษา สมรรถนะผู้เรียนและแก้ปัญหา พัฒนาอาชีพคุณภาพชีวิตและสังคม และเตรียมพร้อมในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ของประชาชนอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม

          2. ส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมในการดำเนินงาน การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยของภาคีเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มประเทศอาเซียนเพื่อผลึกกำลังในการพัฒนาคุณภาพของประชากร

          3. พัฒนาสื่อและเทคโนโลยีทางการศึกษาและส่งเสริมการนำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารทักษะการเรียนรู้เพื่อให้รู้เท่าทันสื่อและเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

          4. ส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ตลอดชีวิตของชุมชน  โดยการพัฒนาศักยภาพการเรียนรู้ของคนในชุมชน  และการส่งเสริมบทบาทของภูมิปัญญาท้องถิ่นในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้  และการดำเนินกิจกรรมของศูนย์การเรียนรู้ในรูปแบบต่างๆ

          5. พัฒนาระบบการบริหารจัดการให้สามารถดำเนินการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย    เพื่อส่งเสริมการศึกษาตลอดชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ

อัตลักษณ์

นักศึกษา 3ดี 3G คือ

ครอบครัวดี       Good Fammily

สุขภาพดี         Good Health

จิตใจดี            Good Mind Service Mind      

เอกลักษณ์

          NONSA-AT TEAMS

          T=technology คือ เทคโนโลยีทันสมัย

          E=excellent คือ การทำงานเป็นเลิศ

          A=active คือ กระตือรือร้น

          M=manage คือ การบริหารจัดการดี

          S=success คือ ความสำเร็จ

ปรัชญา

          การศึกษาคือชีวิต คิดเป็น คือ คิดหาสาเหตุได้ ปฏิบัติได้ ย่อมแก้ปัญหาได้

         เป้าประสงค์

       1. คนไทยได้รับโอกาสทางการศึกษาในรูปแบบของการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม

       2. ประชากรวัยแรงงานมีสมรรถนะในการประกอบอาชีพ สามารถประกอบอาชีพที่สร้างรายได้ให้กับตนเองและครอบครัวได้อย่างยั่งยืน

       3. ชุมชนมีฐานอาชีพที่หลากหลาย ที่สามารถยกระดับไปสู่วิสาหกิจชุมชนอันนำไปสู่การสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจในระดับประเทศได้

       4. องค์กรภาคส่วนต่างๆทั้งในและต่างประเทศมาร่วมเป็นภาคีเครือข่ายในการดำเนินงานการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอย่างกว้างขวาง

       5. หน่วยงานและสถานศึกษานำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา และเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสามารถใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอย่างทั่วถึง

      6. บุคลากรของหน่วยงานและสถานศึกษาได้รับการพัฒนาเพื่อเพิ่มสมรรถนะในการปฏิบัติงานการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอย่างทั่วถึง      

7. หน่วยงานและสถานศึกษามีการพัฒนาระบบการบริหารจัดการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย

Edit